ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า “LGBTQ” หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD ฉบับล่าสุด โดยย้ายหัวข้อ ‘การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด' ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม และย้ายไปอยู่ในหมวด 'กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ' เพราะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต
กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศทางเลือก LGBTQ เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยคำว่า LGBTQ ย่อมาจาก
- L - Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง
- G - Gay กลุ่มชายรักชาย
- B - Bisexual หรือกลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
- T - Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย
- Q - Queer คือ กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก
นอกจากนี้เพศทางเลือกยังสามารถอธิบายตามความหมายของเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศได้ ดังนี้
- เพศวิถี (Sexual Orientation) คือ ความรู้สึก รสนิยมทางเพศ รวมถึงความพึงพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่
- รักต่างเพศ คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศตรงข้าม หรือบุคคลต่างเพศ เช่น ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย
- รักเพศเดียวกัน คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ เลสเบี้ยน (Lesbian) และเกย์ (Gay)
- ไบเซ็กชวล (Bisexual) คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยจะมีอารมณ์เสน่หากับเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันก็ได้
- ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ คือผู้ที่ไม่สนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่เพียงรู้สึกสนิทสนม ผูกพันกับบุคคลอื่น
- รักต่างเพศ คือผู้ที่มีรสนิยมชื่นชอบเพศตรงข้าม หรือบุคคลต่างเพศ เช่น ผู้ชายที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย
- อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คือการรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง ซึ่งบางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับอวัยวะเพศ และโครงสร้างทางร่างกาย แต่บางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกาย หรือเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนข้ามเพศ (Transgender)” โดยคนข้ามเพศอาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิงเพียงเพศใดเพศหนึ่งได้ด้วย
เพศทางเลือกเป็นความผิดปกติหรือไม่
ในสมัยก่อนอาจมองว่าการข้ามเพศ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในเพศทางเลือกมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับทางจิตใจ โดยมีเอกสารทางราชการระบุว่า ‘กะเทย’ เป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตถาวร เป็นโรคจิตวิกลจริต ซึ่งความคิดเหล่านี้ล้วนถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคมจนเกิดการเลือกปฏิบัติทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้เท่าที่ควร ในปัจจุบันสังคมได้เริ่มมีการเอาอิทธิพลทางความคิด และบรรทัดฐานทางสังคมแบบตะวันตกเข้ามา เราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือกได้ทั่วไป โดยสังเกตได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ หรือมีศัพท์ที่บัญญัติใช้เฉพาะกับสื่อบันเทิงที่เกี่ยวกับชายรักชาย หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “ซีรีส์วาย” นั่นเอง
ในทางการแพทย์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นส่วนผสมทั้งภายในและภายนอกที่หลากหลาย เช่น ฮอร์โมน สารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู วัฒนธรรม และพื้นฐานทางสังคมที่หล่อหลอมตัวบุคคลจึงไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด
ปัญหาอัตลักษณ์ทางเพศสามารถแก้ไขได้โดยทางการแพทย์
ผู้ที่มีความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ทางเพศอาจมีปัญหาทางร่างกาย หรือเพศสรีระที่ไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง แพทย์จะช่วยเหลือโดยการแก้ไขร่างกายให้สอดคล้องกับภาวะจิตใจ โดยจะมีการดำเนินการ ดังนี้
- วินิจฉัย เริ่มต้นจากการปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย และให้คำแนะนำในการปรับตัว และการสื่อสารกับบุคคลอื่นเพื่อให้ทราบถึงวิธีการดูแลที่เหมาะสม
- การแปลงเพศ ผู้ที่ตัดสินใจจะรับการผ่าตัดแปลงเพศจะต้องได้รับการประเมินความพร้อมในการผ่าตัดจากจิตแพทย์ และควรเข้ารับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และควรทำการผ่าตัดในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย
แนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลานเป็น LGBTQ
ปัญหากลุ่ม LGBTQ ต้องเผชิญที่สำคัญที่สุดไม่ได้มีแค่เพียงบรรทัดฐานทางสังคม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการยอมรับจากคนในครอบครัว เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจต้องทำตามความหวังของพ่อแม่ หรือต้องรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นเรื่องสวนทางกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว หรือคนรอบข้างอาจยังขาดความรู้ความเข้าใจในตัวตน หรือวิถีทางเพศของคนกลุ่มนี้ จึงควรเรียนรู้แนวปฏิบัติเมื่อพบว่าลูกหลานเป็น LGBTQ ดังนี้
- ไม่เปรียบเทียบ ควรส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง ไม่ควรเปรียบเทียบลูกหลานกับใคร เพราะจะเป็นการสร้างความกดดันส่งผลให้ไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น
- สื่อสารในเชิงบวก มีการสื่อสารระหว่างกัน เน้นการมองผลดีมากกว่าผลเสีย หมั่นพูดคุย เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้บอกเล่าเรื่องราว และรับฟังความคิดเห็นด้วยความเข้าใจ
- ให้ความสำคัญ ใส่ใจ และชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ควรเยินยอเกินจริง
- ให้โอกาสได้เรียนรู้ โดยอาจดูแลอยู่ห่าง ๆ หรือคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
- สังเกตพฤติกรรม วัยรุ่นที่เป็นเพศที่สามอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ คนในครอบครัวจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณว่าตนเองรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น
เหนือสิ่งอื่นใดการยอมรับตัวตนของกลุ่มคนเพศทางเลือกไม่ได้มาจากสังคม แต่เป็นตัวของบุคคลเอง และครอบครัวที่ต้องทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ให้ลึกซึ้ง ไม่ใช่การหาสาเหตุและพยายามแก้ปมปัญหา เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงออกตัวตนออกมาได้อย่างอิสระ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข